วิกฤตไม่เป็นโอกาส

จิบกาแฟยามเช้าวันเสาร์ 29 ส.ค.58 พร้อมหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ เหลือบไปเห็นข่าวนี้



จับใจความได้ว่า สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ เค้าว่า ผู้ใช้ชาวไทยมีการบริโภคเนื้อหาจากต่างประเทศถึง 60% ก็คงพวก facebook, youtube ต่างๆ นานาที่เราๆ ท่านๆ ใช้กันอยู่ทุกวัน อย่างเยอะด้วย

ดังนั้นก็อยากจะเสนอรัฐบาลให้ดึงดูดพวกบริการต่างประเทศเหล่านี้

ให้มาตั้งระบบที่เมืองไทย 

แทนที่จะเป็นที่สิงคโปร์หรือมาเลเซียในปัจจุบัน ซึ่งทำให้บริษัทโทรคมฯ ต้องเสียเงินต่อค่าอินเทอร์เน็ตไปหาประเทศเหล่านี้เยอะมาก ซึ่งก็ต่อเนื่องทำให้ประชาชนต้องเสียค่าใช้อินเทอร์เน็ตแพงอีกทอด ถ้าเนื้อหาต่างๆ อยู่ในประเทศได้ก็ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็จะลดลง

มาตรการที่จะดึงต่างๆ ก็พวกใช้ให้ประโยชน์ด้านภาษี หรือ เงื่อนไขอะไรต่างๆ ก็ให้มันสะดวกขึ้น รวมถึงความมั่นคง อย่าไปเข้มงวดกับเค้ามาก ฯลฯ​ ทำไงให้เค้าอยากมา

อ่านในแว๊บแรกผมก็รู้สึกว่า

ฟังดูดีงาม

มาก

เราๆ ท่านๆ ก็จะจ่ายค่าเน็ตน้อยลง, เค้ามาลงทุน ก็เกิดการจ้างงาน การใช้ง่าย

แต่คิดให้ลึกลงไปอีกนิด

บริการอย่าง facebook, youtube ประชาชนเราใช้ฟรี เสพข้อมูลกันกระหน่ำจนประเทศไทยติดอันดับ 3 ของโลก ถามว่าทำไมเขาทำให้ใช้ฟรีๆ ครับ เพราะเขามีรายได้ รวยระดับโลกด้วย

รายได้จากไหนครับ?

จากโฆษณาไง

ยิ่งผู้ใช้ใช้บริการไหนมากเท่าไหร่ ธุรกิจหรือองค์กรอยากจะลงโฆษณาสินค้าบริการของตนเอง จากเดิมๆ ที่ลงกันในสื่อไทยๆ เว็บไทยๆ ก็ไม่ได้แล้ว ต้องไปลงผ่านบริการเหล่านี้

ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นปริมาณ เงินมหาศาล และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำไงได้ ก็ผู้ใช้คนไทยอยู่กันบนนี้

และเม็ดเงินเหล่านี้วิ่งตรงไปยังผู้ให้บริการในต่างประเทศ รัฐบาลไทยไม่ได้ภาษีสักสตางค์เดียวด้วย!

ท่านผู้บริหารประเทศ ผู้บริหารธุรกิจโทรคมนาคมฯ​ ทั้งหลาย ถามว่าทราบตรงนี้หรือไม่ครับ

ยิ่งเปิดให้เค้าเข้ามาตั้งระบบ แว๊บแรกอาจจะดีงาม แต่ระยะยาวคืออะไร?

แปลว่า ธุรกิจ ​IT ไทย ปิดประตูตายไปเลยครับ ไม่ต้องคิดทำแข่ง ยกตลาดประเทศให้ facebook, google เค้าไปเลย

ทำไมไม่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสล่ะครับ

การที่บริการเหล่านี้อยู่ที่ต่างประเทศ ต้องจ่ายเน็ตแพงถ้าจะใช้ จริงๆ ควรจะทำให้มันยากที่จะใช้ 

ก็ดีแล้วนี่

แล้วก็รวมตัวกันทำของไทยขึ้นมา อะไรอย่าง facebook, youtube แน่นอนถ้าทำให้ดีเท่าเขาหรือเจ๋งกว่าเขาในวันนี้ อาจจะต้องใช้พลังมาก

แต่เริ่มต้นไม่ต้องขนาดนั้นนี่ เอาแค่ 20% ที่ทำให้รองรับ 80% ของการใช้งานของผู้ใช้

ก็เพียงพอแล้ว

เพียงแค่บริษัทโทรคมนาคมในไทยฯ ยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย ประกาศสนับสนุน social network ของไทย ถ้าใช้พวกนี้ ค่าโทรถูกกว่า ค่าเน็ตถูกกว่า

ภาครัฐก็สนับสนุนด้วย องค์กรภาครัฐทั้งหลาย จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลของตัวเองลงในบริการของไทยเท่านั้น และเม็ดเงินโฆษณาก็จะลงตรงนี้ แทนที่จะไปบริการต่างประเทศ

ทำให้มันเป็นวาระแห่งชาติ

โรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ ก็เน้นๆ บริการของไทย

นี่แหละถึงจะเป็น Digital Economy อย่างแท้จริง

แค่นี้ก็เพียงพอสำหรับการเริ่มต้น หลังจากนั้นพอผู้ใช้เริ่มถ่ายเทมาที่บริการของไทย สัก 10-20 ล้านคน จะแข่งขันกับบริการระดับโลกก็ไม่กลัวแล้ว เชิญทุกเจ้ามาตั้งระบบที่ไทยเลย 

ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้ครับ

ประเทศอื่นๆ เค้าไม่ได้ถูก Google, Facebook กินตลาดแทบจะ 100% เหมือนเมืองไทยนะครับ บริการอย่าง LINE, Naver, Baidu, Sina, Renren, Pengyou, QQ, Youku, WeChat ในญี่ปุ่น เกาหลี จีน เค้าสู้กับของฝรั่งได้สบายๆ

ทำไมล่ะ มือตีนก็เท่ากับเรา และของพวกนี้มันทำได้โดยไม่ต้องมีโรงงานลงทุนเป็นหมื่นล้านอะไร แค่มันสมองกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 

อย่าอ้าง เมืองไทยตลาดเล็ก เกาหลีใต้ ประชากรน้อยกว่าเรา

อย่าอ้าง คนไทยภาษาอังกฤษไม่ดี ประเทศพวกนี้ ภาษาไม่ได้ดีเด่กว่าเรา

อยู่ที่ว่าคิดจะสู้หรือเปล่าเท่านั้น!

ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าคนอย่าง Mark Zuckerberg หรือ Steve Jobs หรือ Larry Page มาเกิดในเมืองไทย

มันสู้แน่ๆ ว่ะ

เรื่องอื่นๆ เมืองไทยเราก็ทำได้ มีบริษัทระดับโลกหลายเรื่องแล้ว อาหาร เกษตรกรรม น้ำเมา ปิโตรเคมี สื่อสาร เหลือแต่เรื่อง IT นี่แหละ

ซึ่งเริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สายครับ แต่ต้องรวมพลัง มีจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน

ท่านผู้มีอำนาจและโอกาสทั้งหลาย จะรวมพลังกันสู้ หรือ จะยกตลาดในประเทศถวายฝรั่งก็เชิญเลือกเอาเถิด


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?

ขับรถในประเทศไทยอันตรายที่สุด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒