คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?


ในองค์กรหนึ่งๆ มองเผินๆ อาจมองได้ว่าประกอบด้วยผู้นำและผู้ตามปะปนกันไป ผู้นำอาจจะมองว่าหมายถึง ผู้บริหารองค์กร หรือ หัวหน้างาน ส่วนผู้ตามก็คือลูกน้อง แต่แท้จริงแล้ว ในแต่ละปัจเจกบุคคล มีภาวะผู้นำและผู้ตามทั้งสองอย่างอยู่ในตัวเอง คนๆ หนึ่งเป็นทั้งผู้นำและผู้ตาม ก็ได้ เช่น เป็นหัวหน้าทีม ดูแลลูกน้องจำนวนหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นลูกน้องของผู้บริหารในระดับที่สูงกว่าอีกที



อาจจะกล่าวได้ว่า ถ้าภาวะผู้นำในตัวคนๆ หนึ่งมีมาก ก็มีแนวโน้มว่าจะได้เป็นผู้นำในระดับสูงยิ่งๆ ขึ้นไป
ถ้าภาวะผู้ตามมีมากกว่า ก็มีแนวโน้มว่าจะเล่นบทบาทเป็นสมาชิกทีมมากกว่า หรือ ทำงานในแบบฉายเดี่ยวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การเป็นผู้นำไม่ได้หมายความว่าดีกว่าเสมอไป และการเป็นผู้ตามก็ไม่ได้หมายความว่าจะด้อยกว่า หรืออนาคตอาชีพการงานจะตัน หรือว่ามีรายได้น้อยกว่า บ่อยครั้งในหลายๆ อาชีพ ที่บุคลากรไม่จำเป็นจะต้องเป็นหัวหน้า มีลูกทีมมากมาย ก็สามารถประสบความสำเร็จในระดับสูง รวมถึงมีรายได้สูง ตัวอย่าง เช่น อาชีพที่ใช้ฝีมือ ความสามารถเฉพาะตัว เช่น แพทย์, ศิลปิน, ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย, นักเขียน, โปรแกรมเมอร์, นักออกแบบ เป็นต้น

อาจมองได้ว่าบุคคลเหล่านี้ แม้จะไม่ได้เป็นผู้นำคนอื่น แท้จริงก็คือเป็นผู้นำตัวเอง หรือ ผู้นำทีมเล็กๆ และสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่แพ้ผู้นำองค์กรขนาดใหญ่ รวมถึงมีข้อดีกว่าหลายๆ อย่าง เช่น
  • รับผิดชอบเฉพาะส่วนของตัวเองหรือของทีมเล็กๆ ทำให้มีเวลาและสมาธิในการทำหน้าที่ในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบและเชี่ยวชาญจริงๆ ส่งผลให้ได้ผลงานที่ดีเด่น รวมถึงมีโอกาสได้ฝึกฝนหรือศึกษาต่อยอดในด้านนั้นๆ จนเป็นผู้เชี่ยวชาญ
  • ไม่ปวดหัวกับปัญหาที่ไม่ใช่เรื่องของตน เนื่องจากความรับผิดชอบจะชัดเจนอยู่ในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย หรือเลือกที่จะทำ หากมีปัญหาอื่นใดที่นอกเหนือจากที่รับผิดชอบ สามารถส่งปัญหาต่อให้กับผู้นำได้
อย่างไรก็ตาม งานอีกหลายอย่างไม่สามารถทำได้โดยคนๆ เดียว หรือ คนกลุ่มเล็กๆ ทว่า จำเป็นต้องมีทีมงานหลายฝ่าย จำเป็นต้องมีผู้นำที่ประสานพลังของทุกฝ่ายให้เป็นหนึ่งเดียว อีกทั้ง การเป็นผู้นำก็มีความท้าทายในอีกรูปแบบที่ต่างกันไป มีจุดเด่น (หรือจุดด้อยก็ไม่แน่ใจ) เช่น
  • ต้องรับผิดชอบผลงานของทั้งทีม ไม่ใช่เฉพาะส่วนของตนเอง บ่อยครั้งผลงานส่วนตัวของผู้นำเองแทบจะไม่มีหรือมีน้อยมาก ผลงานจริงๆ ของผู้นำ คือการรวมผลงานของสมาชิกในทีม ซึ่งการรวมผลงานจากหลายๆ คนเข้าด้วยกัน ก็ทำให้ผู้นำเสมือนว่า มีบทบาทหรืออำนาจตัดสินใจในสิ่งที่มีผลกระทบต่อโลกสูงกว่า มีโอกาสสร้างความสำเร็จได้มาก แต่ขณะเดียวกันก็มีโอกาสผิดพลาดได้มากขึ้นเช่นกัน
  • มีอิสระในการทำงานมากกว่า หัวหน้างานหรือผู้บริหารองค์กรอาจมองได้ว่า มีอิสระในการทำงาน ปลอดจากข้อจำกัดยิบๆ ย่อยๆ เช่น การเข้างานรูดบัตรตรงเวลา หรือ โอกาสในการเดินทาง ไปโน่นไปนี่มากมาย ได้เที่ยวฟรี ไม่จำเป็นต้องนั่งประจำโต๊ะทำงานที่สำนักงาน อย่างไรก็ตาม มองในอีกแง่หนึ่งก็คือ ท่านเหล่านั้นแบกงานติดตัวไปตลอดเวลา ไม่ว่าจะเดินทางไปที่นั่ง แม้กระทั่งอยู่บ้านพักผ่อน หรือ ท่องเที่ยวส่วนตัว หากมีลูกค้าติดต่อ หรือ งานเร่งด่วนอะไรขึ้นมา ก็ต้องตอบสนอง หรือบ่อยครั้ง บุคคลจำพวกนี้ มีเป้าหมายอยู่ในหัวที่กระตุ้นสมองให้คิดแต่เรื่องงานตลอด แม้ว่าจะกำลังอยู่ในระหว่างพักผ่อน ดังนั้นความเป็นอิสระที่เหมือนจะมี ไม่ต้องเข้าสำนักงาน สุดท้ายก็เสมือนทำงานอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ที่ใดนั่นเอง
ในชีวิตการทำงาน ท่านสามารถเลือกได้ว่าจะเดินเส้นทางสายใด อย่างที่กล่าวไว้ตอนนั้น บุคคลหนึ่งๆ มีทั้งภาวะผู้นำและผู้ตามอยู่ในตัว ขึ้นอยู่กับท่านพอใจจะปล่อยให้ภาวะไหนมีผลตัวต่อท่านมากกว่า

หากท่านต้องการเป็นผู้ตามที่ดี ก็ต้อง
  • หมั่นเสริมสร้างความสามารถ ในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้ดียิ่งขึ้นๆ ไป ผู้ตามแท้จริงแล้วต้องมีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในสาขาของตนเองมากกว่าผู้นำ (เพราะผู้นำต้องหมดเวลาไปกับการจัดการปัญหาบุคคล การบรรลุเป้าหมาย อะไรต่างๆ ไม่มีเวลาที่จะได้ศึกษาหรือลงมือทำจริงในเนื้องานอีกต่อไป) หากแม้นไม่สามารถทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนเองได้ ก็จะไม่ถูกเลือกให้ทำงาน ไม่สามารถเป็นผู้ตามได้
  • เลือกทำงานที่ดี งานที่ดี หมายถึงงานที่ 1) ชอบ 2) ทำได้ดี 3) มีประโยชน์ต่อคนอื่น เพราะถ้าไม่มีประโยชน์ต่อคนอื่น ก็มีแนวโน้มว่า ยากที่จะมีค่าตอบแทนที่ดี ยากที่จะมีคนเห็นคุณค่า
  • สำคัญที่สุด ทำงานกับผู้นำที่ดี และหน่วยงานที่ดี และถูกโฉลกกับท่าน เพราะหากอยู่กับผู้นำที่ไม่ดี, หน่วยงานที่ไม่มีอนาคต หรือ ไม่เข้ากับท่าน ต่อให้ท่านทำงานเต็มที่อย่างไร ก็คงไม่สำเร็จ และไม่มีความสุข

แต่หากท่านต้องการดำเนินชีวิตในแบบผู้นำ ต้องการเป็นหัวหน้าคน ได้สร้างผลงานที่มีผลกระทบสูงกว่า  ก็ต้องหมั่นสร้างเสริมพัฒนาบุคลิกลักษณะที่บ่งชี้ถึงความเป็นผู้นำ เช่น
  • รับผิดและชอบ ผู้นำที่ดีจักต้องรับทั้งผิดและชอบ ในผลงานของทั้งทีม ไม่เฉพาะงานของตนเอง อันที่จริงแล้ว ความชอบที่เกิดขึ้น ผู้นำต้องจักมอบให้แก่ลูกทีมที่สร้างผลงาน มิใช่โอ้อวดว่าเป็นแต่เพราะฝีมือตน ส่วนความผิดไม่ว่าจะของใครในทีม ผู้นำต้องออกตัวรับก่อน มิใช่โยนว่าเป็นผลงานของคนอื่นใด เนื่องจากถือว่าเป็นตัวแทนของบุคคลทั้งกลุ่ม และเมื่อผิดแล้วก็ต้องแก้ไข ไม่ใช่มัวแก้ตัวหรือชี้นิ้วหาคนผิด ผิดครั้งแรกส่วนใหญ่ไม่มีใครว่า อย่าให้ผิดซ้ำซากเป็นใช้ได้
  • สื่อสาร ผู้นำต้องสื่อสารตลอดเวลา สื่อสารให้ลูกทีม สื่อสารกับลูกค้า สื่อสารกับผู้นำในระดับสูงขึ้นไป สื่อสารกับสังคม การสื่อสารที่ดีไม่ใช่ว่าต้องพูดเป็นต่อยหอยทั้งวัน หรือ พูดสักแต่ว่าสื่อความออกไปครบถ้วน แต่หมายถึง ผู้รับจะต้องได้รับสารครบถ้วน ซึ่งแปลว่า ผู้นำจะต้องรู้วิธีที่จะสื่อสารให้ผู้รับสารแต่ละแบบเข้าใจ อาจจะต้องใช้ปริมาณสารและวิธีการที่แตกต่างกัน ผู้นำจักต้องหมั่นคุยหรือเขียนหรือจะใช้สื่ออะไรก็แล้วแต่ ให้ผู้ร่วมงานได้ทราบในสิ่งที่ควรจะทราบ ในเวลาที่เหมาะสม 
  • ฟังและติดตาม ผู้นำดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายพูด ฝ่ายสั่งงาน แต่แท้จริงแล้วต้องรับฟังมากกว่าพูด มิฉะนั้นจะไม่รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน ต้องฟังเพื่อรับความเห็นจากผู้ร่วมงาน หากสักแต่ว่าเอาแต่สั่งๆ อย่างเดียว ก็ยากที่จะสำเร็จ เมื่อฟังแล้วพบว่ามีปัญหา ก็ต้องรีบแก้ไข และสำคัญที่สุด หากสมาชิกไม่สื่อสารกลับมา ไม่มีอะไรจะพูดให้ฟัง ผู้นำก็ต้องเป็นฝ่ายติดตาม เพราะเป็นไปได้ว่าบุคลิกผู้ตามอาจไม่กล้าออกความคิดเห็น ติดปัญหาแล้วก็งงอยู่อย่างนั้น ผู้นำก็ต้องรู้ และเป็นฝ่ายเข้าถึง กิจการงานต่างๆ มีน้อยครั้งที่ผู้นำเพียงสั่งงานและถึงเวลาที่กำหนดได้ผลงานตามที่สั่งครบถ้วน ผู้นำต้องติดตามดูความคืบหน้าตลอดเวลา
  • มองภาพใหญ่ออก และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว ผู้นำต้องมีความเข้าใจในภาพรวมของทั้งทีม หมายความว่า สิ่งที่ต้องเรียนรู้มีมาก และรวมถึงสิ่งที่ผู้นำทำเองไม่ได้ หรือ ไม่มีความถนัด ขณะที่เวลามีน้อย เทียบกับสมาชิกทีมแต่ละคนที่มีเวลาศึกษาในเรื่องของตน ดังนั้นผู้นำมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องเรียนรู้เร็ว และ สำคัญที่สุดคือ มองภาพใหญ่ออก ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อผู้นำมีความเข้าใจเพียงพอในแต่ละเรื่องต่างๆ ที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่จำเป็นต้องทำเองเป็น แต่ต้องเข้าใจหลักการและเหตุผลในระดับที่ลึกเพียงพอ ซึ่งหลายคนมีความกดดันที่จะต้องให้มาเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ได้ชอบหรือไม่ได้สนใจ
  • สร้างแรงกระตุ้นให้คนอื่น ผู้นำต้องมีเป้าหมายและแรงกระตุ้นตนเองตลอดเวลาอันนั้นไม่ต้องพูดถึง แต่แค่นั้นยังไม่พอ ต้องสามารถสร้างแรงกระตุ้นให้สมาชิกในทีมทราบถึงเป้าหมายและมีแรงกระตุ้นในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกันได้ บางคร้ั้งสมาชิกอาจมีปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับงาน ก็ต้องอย่างน้อยรู้จักรับฟังและให้คำแนะนำที่ดีในการจัดการกับปัญหา
  • เป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากผู้นำจะเป็นเสมือนต้นแบบให้กับสมาชิกในทีมโดยอัตโนมัติ หากประพฤติตนไม่เป็นตัวอย่างที่ดี เช่น ไม่ขยัน เกี่ยงงาน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ เข้างานสาย แต่งตัวไม่เรียบร้อย พูดจาหยาบคาย หงุดหงิดอารมณ์ขึ้น ก็ยากจะปกครองลูกทีม ทั้งๆ ที่จริงๆ ผลงานอาจจะยังดี แน่นอนว่าคนเราไม่สามารถสมบูรณ์แบบไปได้ทุกเรื่อง แต่ผู้นำต้องพยายามรักษาสิ่งที่ดีไว้ให้มากกว่าสิ่งที่ไม่ดี ยิ่งมีสิ่งไม่ดีอยู่มากเท่าไหร่ หมายความว่าสิ่งที่ดีของท่านต้องโดดเด่นเป็นทวีคูณจึงจะกลบสิ่งไม่ดีเหล่านั้นได้ ขณะที่ผู้ตามไม่มีความกดดันเหล่านี้ ทำหน้าที่ของตัวเองให้สำเร็จเป็นใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นแบบอย่างอะไรมากมาย
ลองเลือกกันดูว่าครับ อยากดำเนินชีวิตแบบไหน ภาวะผู้นำหรือผู้ตามที่จะเหมาะสมกับตัวท่านมากกว่ากัน  ซึ่งทั้งสองแบบก็มีภาระหน้าที่แตกต่างกัน แนะนำให้เลือกแบบที่ท่านทำแล้วสำเร็จและมีความสุขในชีวิตมากกว่า ขอให้โชคดีครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขับรถในประเทศไทยอันตรายที่สุด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒