เข้าใจยาก: ทำถนนบนทะเล

เห็นโครงการนี้มาอยู่พักหนึ่งแล้ว วันนี้ได้อ่านเว็บของ โครงการที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดเส้นทางลัดสู่ภาคใต้ (สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย-ชะอำ) แล้ว ยังรู้สึกเข้าใจยาก

ผมเข้าใจว่าความคิดที่จะทำถนนบนทะเลนี้คือ เป็นเส้นทางลัด ย่นระยะไปได้กว่า 40 กม. แต่ว่ายังไงก็น่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าบนบกมาก แถมยังมีปัจจัยน่าห่วงอื่นๆ อีก เช่น สิ่งแวดล้อม, ความปลอดภัย อะไรต่อมิอะไรซึ่งบางอย่างมันก็คาดไม่ถึง จนกว่ามันจะเกิดขึ้น (ดูอย่างอุบัติเหตุรถไฟใต้ดินไหลลงมาชนรถไฟที่จอดอยู่ที่สถานี มันยังเกิดขึ้นได้). การสร้างสะพานแบบนี้ น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้าย แบบที่ไม่มีวิธีอื่นแล้ว อย่างพวกเชื่อมจากแผ่นดินไปเกาะ หรือว่าย่นระยะทางได้เป็นร้อยๆ กิโล. สำหรับกรณีนี้นี่ดูแล้วยังไงๆ มันก็ไม่น่าคุ้ม?

ด้วยเงินจำนวนเดียวกัน (เขาประมาณไว้ 56,815 ล้านบาท) เอาไปสร้างถนนบนดิน แบบคุณภาพสูงเลย ไปกลับข้างละ 3-4 เลน ระยะทางยาวกว่าในทะเลหน่อย แต่ถ้าถนนดี มันก็วิ่งไม่กี่นาที? ความเสี่ยงลดลงไปตั้งเยอะ. จุดแวะพักก็ทำได้ถี่ ให้ประชาชนมาเปิดร้านขายของกันได้อีก. ทำอย่างที่ว่าแล้วเงินก็ยังน่าจะเหลืออีก เอาไปสร้างทางรถไฟขนานกับถนนไปด้วยเลย มันน่าจะคุ้มกว่ากันหรือเปล่า.

ข่าวเพิ่มเติม จาก manager ล้มแผนก่อสร้างถนนเลียบอ่าวไทย “สมุทรสาคร-แหลมผักเบี้ย” มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท หลังกระทบสิ่งแวดล้อม-ไม่คุ้มค่า หันไปปรับปรุงเส้นทางเดิมแทน “ทักษิณ” เผย “ในหลวง” ทรงห่วงให้คิดรอบคอบ

ความคิดเห็น

Tunyalit Karnjanakul กล่าวว่า
นั่นสิ ทำไปทำไม ธรรมชาแย่หมด
Beamer User กล่าวว่า
มีส่วนเกี่ยวกับโครงการนี้เมื่อปีที่แล้วติ๊ดนึง จริงๆ แล้วหายากคนที่จะเห็นด้วยกับ
เรื่องนี้ แต่มหาวิทยาลัยที่ปรึกษาก็ไม่รู้คิดยังไง เหมือนกับปฏิบัติตามคำสั่งไงงั้นเลย
CrazyHOrse กล่าวว่า
เรื่องที่สำคัญกับระบบ logistic ของไทยจริงๆอย่างการปรับปรุงระบบรถไฟ ทั้งเรื่องมาตรฐานความกว้างของราง และ รถไฟรางคู่ น่าจะทำมาตั้งนานแล้วไม่ยักกะคิดทำกันบ้างเลย

อยากได้คนที่ทั้งเก่งทั้งดีมาปกครองประเทศมั่ง

หวังมากไปหรือเปล่า?
bact' กล่าวว่า
อย่างที่พี่อ็อทว่าก็ใช่ ทำบนดินให้ดีๆ ก็น่าจะได้

แต่ทำบนดิน มีต้นทุนอีกอย่าง คืนค่าเวนคืนที่ดินครับ
ซึ่งผมก็ไม่รู้เหมือนกัน ว่ามันจะมากเท่าไหร่
Oakyman กล่าวว่า
ผมก็สงสัยว่าทำไมต้องทำ
เคยอ่านข่าวว่าเป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริรึเปล่า?
Oakyman กล่าวว่า
แต่ยังดีนะครับ หน้าข่าว http://www.lpbproject.com/other_news_001.htm ก็มีข่าวด้านลบไว้ด้วย
ไม่ใช่มองด้านเดียว
pattara กล่าวว่า
บนบกคงต้องมีค่าเวนคืน ไม่รู้ว่าคิดสะระตะแล้วจะถูกกว่าในน้ำมากแค่ไหน ถ้าปรากฎออกมาว่าพอๆ กันก็น่าคิด แต่ถ้าถูกกว่าสักหมื่นล้าน ผมก็ยังเห็นว่าน่าจะประหยัดเงินตรงนี้. นอกจากนี้ ถ้าตัดผ่านป่าเขา ถนนเป็นแบบมอร์เตอร์เวย์ ไม่ให้คนมาตั้งร้านหรือสร้างบ้านริมถนน ก็คิดว่าไม่น่าจะเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากหรือเปล่า (หมายถึงชุมชนไม่น่าจะย้ายตามไป).

ปกติผมค่อนข้างสนับสนุนการสร้างอะไรใหม่ๆ ถึงแม้จะมีผลกระทบบ้าง แต่ถ้าเทียบกันแล้วดีมากกว่าเสีย ก็น่าจะทำ เพราะถ้าจะไม่ให้มีผลเสียเลย คงไม่ต้องทำอะไรเลย. แต่อันนี้ เห็นว่าถ้าทำบนบกประหยัดได้เป็นหมื่นๆ ล้านบาท ก็ยังไม่เห็นว่าทำไมถึงควรต้องลงน้ำ เอาไปสร้างทางรถไฟหรือทางหลวงที่อื่นให้ดีๆ. ใช้ความสามารถทางวิศวกรรมไปสร้างอุโมงค์ หรือ สะพานข้ามหุบเขา ให้ถนนหรือรางรถไฟตรง อะไรยังงี้ ดูแล้ว น่าจะมีอะไรให้ทำอีกเยอะในเมืองไทยเรา
pattara กล่าวว่า
ผมคิดว่า ปัญหาเส้นทางจราจรจาก กทม.ไม่พอเพียงและติดขัด สมควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง, เห็นด้วยอย่างมาก. แต่จะทำด้วยวิธีใด อยากให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาให้ดีๆ ครับ สิ่งแวดล้อมเอย จะกระทบอะไรบ้างมั้ย, แผ่นดินไหว, คลื่นยักษ์ หรือเรือมาชน อะไรทั้งหลาย โครงสร้างจะแข็งแรงขนาดไหน รับสิ่งพวกนี้ได้มั้ย ถ้าบนบกมันทำได้ยากจริงๆ ต้องเวนคืนเยอะ หรือ มีปัญหาอื่นๆ ใดเหลือบ่ากว่าแรง ก็เอาล่ะคงต้องทำในน้ำ แต่ถ้ายังมีหนทางทำบนบกซึ่งน่าจะถูกกว่าและปลอดภัยกว่า ก็น่าจะลองพิจารณาดู
Beamer User กล่าวว่า
สิ่งที่ต้องคิดให้ดีคือเรื่องสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าสร้างถนนนี้
ขึ้นมา ถ้าโครงการไม่รีบร้อนนัก ทำอย่างอื่นไปก่อน แล้วก็สร้างแบบจำลองคณิตศาสตร์
ของชายฝั่งบริเวณนั้น แล้วศึกษาผลกระทบให้รอบครอบเสียก่อนค่อยทำก็ไม่สาย

หมายเหตุ ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ
pattara กล่าวว่า
ปล. ขออภัย เขียนไม่ชัดเจน "...เส้นทางจราจรจาก กทม.ไม่พอเพียง..." ---> "...เส้นทางจากกทม และจากภาคอื่นๆ ที่จะลงไปภาคใต้ ไม่พอเพียง..."

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?

ขับรถในประเทศไทยอันตรายที่สุด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒