พูดอังกฤษเต็มปากเต็มคำ

ช่วงนี้ไปเขียน blog อีกอัน พูดอังกฤษเต็มปากเต็มคำ ที่ Longdo Dict Blog ครับ แนะนำเรื่องตัวสัทอักษร (phonetics symbols) สำหรับภาษาอังกฤษ และเรื่องการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษ โดยพยายามจะสอดแทรกคำที่คนไทยมักอ่านผิด และมีตัวอย่างเสียงของเจ้าของภาษาด้วยครับ (อังกฤษและอเมริกัน) ซึ่งจริงๆ แล้วไอ้ผมก็ภาษาอังกฤษไม่ได้ดีเด่อะไรหรอกครับ แหะ แหะ แต่ก็อยากจะถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้มาตอนเรียนภาษาอังกฤษสมัยที่เรียนที่ญี่ปุ่นน่ะครับๆ ไหนๆ ก็เสียตังค์เรียนไปแล้ว ก็ขอถ่ายทอดต่อหน่อยจะได้คุ้มๆ และก็ได้ความกรุณาจาก อ.ที่เคยสอนผม และรุ่นน้องอีกคนมาออกเสียงตัวอย่างให้ฟังด้วย และก็อยากจะเชิญชวนผู้ที่ชอบเรื่องภาษา ภาษาใดๆ ครับไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน ภาษาต่างประเทศใดๆ หรือแม้กระทั่งภาษาไทย ภาษาถิ่น และรักการเขียน + อยากจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อื่น ขอเชิญชวนมาเขียน blog กันที่ Longdo Dict Blog ครับ โดยสามารถสมัครสมาชิกได้เอง (username อันเดียวกับของบริการ Longdo อื่นๆ)และเขียนได้ทันที (ช่วงแรกๆ จะต้องผ่านการ approve ก่อนถึงจะขึ้นหน้าแรกนะครับ)

ความคิดเห็น

bact' กล่าวว่า
เรื่องฟีเจอร์นี่ชอบใจครับ จะได้แนะการออกเสียง (ในแบบหนึ่ง ๆ)

แต่มีความเห็นอยากแลกเปลี่ยนหน่อยนึง เวลาพูดว่า "เจ้าของภาษา" ผมไม่แน่ใจว่า ภาษาอังกฤษในปัจจุบันนี่ เราจะยังหาความเป็นเจ้าของภาษาได้อยู่อีกรึเปล่า ในแง่ที่ยึดติดอยู่กับชนชาติ

(ผมเข้าใจว่าที่พี่ Ott เขียนในวงเล็บ "(อังกฤษและอเมริกัน)" เป็นเพียงการยกตัวอย่างที่ตอนนี้ Longdo มี ไม่ได้หมายความว่าจะมีเจ้าของภาษาแค่สองกลุ่มนี้เท่านั้น - แต่ก็อยากแลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับพี่ Ott และคนอื่น ๆ ด้วยครับ)


ผมเคยเห็นโฆษณารับสมัครงาน บอกว่าต้องการผู้พูดภาษาอังกฤษที่เป็นเจ้าของภาษา พร้อมกับระบุว่า อังกฤษ อเมริกัน แคนาดา ออสเตรเลีย หรือ นิวซีแลนด์

ผมคิดว่าถ้าจะนับเรื่องเป็น native speaker นี่ มีคนจำนวนไม่น้อยเช่นกันที่เป็น native speaker พูดภาษานั้นตั้งแต่เกิด ใน ฮ่องกง สิงคโปร์ และอินเดีย - หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ยอดพิมพ์สูงที่สุดในโลก ก็เป็นหนังสือพิมพ์ในอินเดีย

ถ้าจะนับว่า โอเค ไม่เอาเอเชีย จะเอาเฉพาะฝรั่งผิวขาว โฆษณารับสมัครงานนั้น ก็น่าจะยังตก ไอร์แลนด์ ไปอย่างน้อยหนึ่งประเทศ

หรือจะนับว่า เจ้าของ ก็คือว่า ภาษานี้มีถิ่นกำเนิดจากไหน ผมก็ไม่ค่อยชัวร์ว่าเราจะสืบกันไปได้ยังไง และสุดท้ายมันลงไปตกอยู่ในประเทศที่เราคิดว่าเป็นเจ้าของภาษาจริง ๆ รึเปล่า ไหนจะคำจะวิธีการใช้ภาษาที่หยิบยืมข้ามกันไปมาอีก


สรุปว่า ผมเชื่อในเรื่องว่า เรามี accent ภาษามี variation, dialect ต่างกัน
แต่ไม่เชื่อว่า accent หรือ variation, dialect ไหน จะถูกต้อง จริงแท้ เป็นต้นตำรับ (อย่างที่คำว่า "เจ้าของ" บ่งโดยนัย ถึง authenticity, authority) กว่ากันน่ะครับ
pattara กล่าวว่า
ที่ใช้คำว่าเจ้าของภาษา หมายถึงนัยยะที่แปลว่า native speaker น่ะครับ หรือควรจะใช้คำอื่นว่าอะไรดี คนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก? คนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้แบบธรรมชาติ? มีคำอะไรที่เหมาะสม+สั้นกว่านี้ไหม

แต่ส่วนตัวผมคิดว่าคำว่า เจ้าของภาษา โอเคอยู่นะครับ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ หรือสัญชาติครับ และไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นต้นตำรับ คนอื่นไปลอกมาอีกที แต่อย่างใด

เคยมีรุ่นน้องที่เป็นคนไทย (แม่ไทย พ่อไม่ใช่) แต่โตที่มาเลย์ เรียน inter และพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก, พูดไทยไม่ค่อยได้ แบบนี้ในนัยยะที่ผมใช้ก็ถือเป็น "เจ้าของภาษาอังกฤษ" นะ แต่ในขณะเดียวถึงแม้จะเป็นคนไทยก็ไม่นับว่าเป็น เจ้าของภาษาไทย เพราะพูดไทยไม่ใคร่ชัด

ส่วนในวงเล็บ (อังกฤษและอเมริกัน)ก็เป็นการบอกว่ามีตัวอย่างอยู่แค่ 2 คนซึ่งเป็นคนอังกฤษและอเมริกัน ตามที่เข้าใจล่ะครับ จริงๆ อยากได้อีก (รวมถึงอังกฤษ+อเมริกันอีกก็ได้) ผู้อ่านจะได้ฟังกันหลายๆ แบบ bact ถ้ามีเพื่อนที่สนใจก็ฝากชวนด้วยนะ :)

ส่วนสมัครงานแล้วระบุประเทศแบบนั้น ไม่แน่ใจแฮะว่าต้องการอะไร ต้องการตีกรอบ accent ที่ยอมรับ หรือ เกี่ยวกับ work permit หรือเปล่า ถ้าเอาแค่ความสามารถ คนไทยพูดอังกฤษได้ native ก็น่าจะรับด้วย

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?

ขับรถในประเทศไทยอันตรายที่สุด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒