สำนัก Project X แห่งชาติ

ผมเคยตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยที่ใครเรียกว่าเป็น ดีทรอยท์แห่งเอเชีย แล้วทำไมไม่เห็นมีรถยนต์ยี่ห้อของไทยสักยี่ห้อ?

สอบถามคนในวงการก็ได้รับแต่คำตอบว่า โอ ขนาดนั้นมันยาก ไม่ทันแล้ว คนไทยไม่ไหว ทำไม่ได้หรอก ฯลฯ 

เราเป็นได้แค่ฐานรับจ้างการผลิตให้ต่างชาติ กำไรส่วนบนสุดนั้นบริษัทเจ้าของยี่ห้อเอาไป เหลือให้เราแค่ค่าแรงขั้นต่ำๆ ก็โอแล้วล่ะ

จริงหรือ?

เหลียวมองมาวงการไอที ถามว่า ตั้งแต่เช้ามาท่านได้ใช้ผลิตภัณฑ์ IT อะไรของคนไทยบ้างครับ ฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ก็ได้ คิดเป็นกี่ % ของทั้งหมดที่ใช้ในแต่ละวัน เกิน 10% มั้ย?

ขอพาดพิงถึงโครงการดิจิทัลอีโคโนมีอีกครั้ง ผมได้มีโอกาสไปร่วมระดมสมองอยู่ครั้งหนึ่ง คุยๆ ในกลุ่มจับใจความได้ว่า เราก็ตั้งเป้าให้ภายใน 3 ปี ทุกหน่วยงานมี IT ใช้กันกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ

แค่นั้นเองหรือครับ? ถ้าแค่จะใช้เทคโนโลยี ไม่ต้องถึงกับตั้งกระทรวงใหม่มั้ง ทุกวันนี้ภาคเอกชน ภาคปัจเจกชน เค้าใช้เทคโนโลยีกันเก่งจะแย่ 

ทำไมกรอบความคิดก็ยังอยู่ที่ คนไทยเป็นได้แค่ผู้ใช้ หรือ อย่างดีก็เอามา customize เล็กๆ น้อยๆ ปลายน้ำ เท่านั้น

โครงการระบบรางที่เราจะทำกันเยอะแยะไปหมด ทั้งความเร็วสูง ความเร็วปานกลาง ผมก็ได้ยินแต่เรื่องจะให้ประเทศโน้นประเทศนี้มาทำ กู้ๆ เงินมาสร้างๆ 
ไม่เห็นได้ยินว่าเราจะถือโอกาสนี้พัฒนาเทคโนโลยีอะไรของเราเองเลย 

ผมเชื่อว่า ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ก็จะทำไม่ได้อย่างนี้แหละ ตลอดไปและตลอดชาติ 

เราจะไม่มีวันมีรถยนต์เป็นของตนเอง ไม่มีผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีอะไรเจ๋งๆ เป็นของตนเองจนกว่าจะมีคนรุ่นถัดไปที่กล้าคิด และกล้าทำ มาเปลี่ยนความคิดนี้

คนไทยเราไม่ใช่ไม่เก่งนะ ระดับมันสมองก็มีมาก แต่จำนวนมากทำงานบริษัทข้ามชาติกันดีกว่า เงินเดือนดี บริหารงานมีระบบ ก็ต้องกินต้องใช้อ่ะนะ

เก่งมากหน่อยก็ทำ start-up เป็นธุรกิจของตนเอง สักพักก็มีต่างชาติมาลงทุน, ซื้อ, ชวนไปอยู่ต่างประเทศ ฯลฯ ตามสูตร

สิ่งที่ประเทศชาติต้องการอย่างยิ่งตอนนี้ จึงไม่ใช่กระทรวงใหม่ที่มาผลักดันการใช้ IT

แต่คือ ความกล้าคิด ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยพลิกกลับมาเป็นผู้ผลิตทางเทคโนโลยีบ้าง

ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงว่าไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเนรมิตให้ประเทศเรากลายเป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี มันไม่ใช่ง่ายๆ มันต้องมีกลยุทธ์ที่แยบยล มันต้องครบวงจรทั้ง

R - Research
D - Development
E - Engineering
C - Commercial

ไม่ใช่มีแค่ R&D นักวิจัยคิดว่าวิจัยไรดีว้า ทำเสร็จออกมา เอ้าใครอยากเอาไป commercialize บ้าง ทำไมไม่ค่อยมีล่ะ

มันต้องกลับข้างกัน C - Commercial ต้องเป็นตัวนำ เราจะทำอะไร เป้าหมายคืออะไร ทำอย่างไรถึงจะอยู่รอด แข่งขันได้

จากนั้นต้นน้ำ R&D ต้องสนับสนุน และทำให้มันเป็นจริงในระดับอุตสาหกรรมด้วย Engineering
สุดท้ายต้องแข่งขันได้ในระดับ Commercial ซึ่งอาจต้องจำเป็นใช้เทคนิคพวก regulation ต่างๆ มาให้เกิดการแข่งขันที่_ไม่เท่าเทียม_แต่ยุติธรรม เพื่อให้รายใหม่แข่งได้

ผมจึงมองว่า น่าจะมี หน่วยงานที่มีหน้าที่สร้าง Mission ที่ง่ายๆ สั้นๆ และผลักดันทุกวิถีทางที่จะทำให้ Mission นั้นสำเร็จ 

หน่วยงานต้องมีอำนาจข้ามกระทรวง เพราะงานแบบนี้ต้องใช้หลายวงการรวมถึงภาคธุรกิจด้วย 

ไม่ใช่แค่ภาครัฐเอาเงินมาทุ่ม จ้างงาน เอกชนมาทำ แล้วจบ แบบนั้นมันอยู่ไม่ยืด มันต้องให้อยู่ในธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ด้วย

Mission เช่น
1. ตู้โดยสารรถไฟต้องเป็นยี่ห้อที่ผลิตในประเทศไทยเท่านั้น
หัวรถจักร ถ้ายากไป ก็ไม่เป็นไร แต่ตู้โดยสาร คนไทยน่าจะทำได้นี่
กระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการสัก 2-3 ราย ผลิตแบบคุณภาพดีๆ หวังส่งออกด้วย

2. รถยนต์ยี่ห้อของประเทศไทย
ไม่ต้องเป็นรถยนต์แห่งชาติของรัฐบาลครับ แบบนั้นอยู่ไม่รอดระยะยาว, แต่ผลักดันให้เกิดธุรกิจรถยนต์ของคนไทย โดยหลายๆ ส่วนไม่จำเป็นต้องทำเอง เช่น เครื่องยนต์ ยากนัก ซื้อมาก่อน ฯลฯ
แต่การ design, branding, การตลาด ต้องทำเอง 

วิธีผลักดันง่ายๆ ก็ออกกฎรถยนต์ภาครัฐทั้งหมดต้องมีรถที่เป็นยี่ห้อของไทยไม่ต่ำกว่า 50%? แค่นี้ก็สร้าง demand มหาศาลแล้วไหม

3. บริการทาง IT ของคนไทย ระดับ 10 Million users มากกว่า 10 บริการ
อ้างถึงบทความ ดิจิทัล อีโคโนมี ของใคร? อย่างที่บอก ปัจจุบันต่างชาติกินรวบ

นิยามของคำว่าของคนไทย คือ ธุรกิจส่วนวิจัยและพัฒนาต้องอยู่ในเมืองไทย, server ต้องอยู่ในเมืองไทย, เสียภาษีประเทศไทย

กระตุ้นด้วยมาตรการทางภาษี ถ้าธุรกิจใช้บริการเหล่านี้ได้ลดภาษี และ ภาครัฐให้เลือกใช้บริการของคนไทยก่อนเท่านั้น

มาตรการกระตุ้นเหล่านี้ (พูดให้ชัดคือ มาตรการกีดกันต่างชาติ เพื่อให้ของไทยสู้ได้) อาจฟังดูจีนๆ สักนิด ฟังดูไม่เสรี ไม่โลกาภิวัฒน์ แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น และในฐานะผู้ใช้ต้องทนใช้ของที่ห่วย (กว่าระดับโลก) สักแป๊บ เชื่อว่าไม่นานครับ และต้องทำให้แยบยล

พอปั้นให้ธุรกิจเหล่านี้ใหญ่โตระดับหนึ่งแล้ว ก็กลับมาปล่อยเสรีเต็มที่ได้ครับ ยกตัวอย่างธุรกิจของไทยใหญ่ๆ ปตท., ThaiBev, Central พวกนี้เค้าแข่งระดับโลกได้แล้ว

และงานของ Mission นั้นๆ ก็ถือว่าหมดไป ครบทุก Mission สำนักงานนี้ก็ปิดตัวไปได้

ไม่ง่าย แต่เชื่อว่าทำได้และท้าทายมาก และจะดึงคนเก่งๆ ของเราให้กลับมาทำงานเพื่อชาติ และให้โอกาสพวกเขาในการดำเนินธุรกิจใน Mission นั้นๆ ระดับโลกต่อไปด้วย!



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

คุณเป็นผู้นำหรือผู้ตาม?

ขับรถในประเทศไทยอันตรายที่สุด

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒